จับมือ HomePro เปิดตลาด ‘เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก’ ครั้งแรกในไทย รีไซเคิล

เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าสู่ Circular Products

19 เมษายน 2567 - ท่ามกลางกระแสความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคทั่วโลก Circular Products หรือ สินค้ารักษ์โลกจากการนำวัสดุที่ใช้แล้วมาหมุนเวียนใช้ใหม่เพื่อสร้างคุณค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์สินค้าที่กำลังได้รับความนิยม เพราะถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานซ้ำ รีไซเคิลได้ง่าย หรือใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดปริมาณขยะ และลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อโลกใบนี้ที่เรามีอยู่เพียงใบเดียวเท่านั้น

สำหรับบริบทประเทศไทยต่างก็ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กันโดยหนึ่งในปรากฏการณ์ที่กลายเป็นก้าวสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ก็คือ การผนึกกำลังระหว่าง SCGC และ HomePro เปิดตัว ‘เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก’ โดยรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าให้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ ด้วยระบบ Closed-loop เป็นการจัดการเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วจากลูกค้าของ HomePro ให้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างครบวงจรด้วย Green Innovation จาก SCGC เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ที่เรียกว่า Green Polymer สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก ซึ่งกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ให้ผู้บริโภคอีกครั้ง โดยทั้งสองบริษัทต่างกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้เช่นเดียวกัน นั่นคือ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ซึ่งการส่งเสริมให้เกิด Circular Products ด้วยระบบ Closed-Loop ถือเป็นภารกิจที่ตอบเป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวเสาวณีย์ สิราริยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มการตลาด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘โฮมโปร’ บอกเล่าที่มาของโครงการ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก’ ว่า ธุรกิจของโฮมโปรขายสินค้าหลากหลายประเภทที่เกี่ยวกับบ้าน แต่สัดส่วนที่เยอะที่สุดคือเครื่องใช้ไฟฟ้า โฮมโปรเล็งเห็นว่าแบรนด์ต่าง ๆ ตั้งใจสร้างนวัตกรรมใหม่ในทุก ๆ ปี เพื่อให้ลูกค้าได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต

เมื่อผู้ผลิตมีความต้องการที่จะคิดค้นสินค้าใหม่ให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ดีขึ้น ผนวกกับโฮมโปรในฐานะช่องทางการจัดจำหน่าย ได้พบปัญหาใหญ่ของลูกค้าประการหนึ่งคือ ลูกค้าต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปทิ้งที่ไหนดี จึงกลายเป็นที่มาของโครงการ ‘แลกเก่าเพื่อโลกใหม่’ ที่โฮมโปรชวนลูกค้านำสินค้าเก่าภายในบ้านที่ร่วมรายการ มาแลกซื้อสินค้าใหม่ พร้อมรับส่วนลดพิเศษกับโฮมโปร ซึ่งผลตอบรับดีมากโดยมีผู้สนใจจำนวนมาก ลูกค้าค่อนข้างแฮปปี้ที่มีคนมาดำเนินการจัดการเปลี่ยนขนส่งสินค้าให้

“พอจำนวนสินค้าเก่าเยอะขึ้น โฮมโปรก็เริ่มมีไอเดียใหม่ว่า เราต้องการนำเอาของเก่าจากบ้านลูกค้าโฮมโปร รวมทั้งของที่เกิดจากการดำเนินกิจการของโฮมโปรเองไปจัดการอย่างถูกวิธี กลายเป็นความคิดต่อยอดเพื่อทำ Circular Products เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าจากบ้านลูกค้าโฮมโปร อันไหนที่ไปต่อไม่ได้ ต้องทิ้งก็ทิ้งอย่างมีความรับผิดชอบ อันไหนที่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ได้ เราก็นำมารีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าโฮมโปร เป็น Exclusive Products ให้กับลูกค้าของเรา สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่โฮมโปรได้จับมือกับพันธมิตรคนสำคัญอย่าง SCGC”

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ฉายภาพเรื่องราวของนวัตกรรม Green Polymer ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการ Circular Products ว่า พลาสติก หรือ พอลิเมอร์ นับเป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่ทำได้หลายอย่าง สร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนทั่วโลก โดยอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนมายาวนาน แม้ในช่วงวิกฤติอย่างโควิด 19 ที่ผ่านมา บทบาทของพลาสติกยิ่งทวีความต้องการมากขึ้น เพราะเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ด้าน Hygiene นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพัฒนานวัตกรรมด้านพอลิเมอร์โดยมุ่งสู่ Low Waste, Low Carbon เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน และสร้างวิถีใหม่สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยเหตุนี้ SCGC จึงนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายด้าน ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดระบบ Closed-Loop เพื่อให้พลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ไม่เล็ดรอดออกสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม

SCGC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี โดยผลิตเม็ดพลาสติกหลากหลายชนิดเพื่อป้อนตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศมานานกว่า 40 ปี โดยนำนวัตกรรมมาพัฒนาพอลิเมอร์ให้กับภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้พัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์สินค้า SCGC GREEN POLYMERTM ซึ่งสามารถตอบโจทย์การใช้งาน และแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งขณะนี้ เรามี4 โซลูชันหลัก ๆ ได้แก่ Reduce การลดการใช้ทรัพยากร, Recyclable การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้, Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ และ Renewable การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายผลิต Green Polymer 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยลดจำนวนพลาสติกใช้แล้วได้อย่างมหาศาล โดย SCGC ได้ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ และเจ้าของแบรนด์สินค้าเพื่อนำโซลูชันเหล่านี้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกชนิดต่าง ๆ

นอกจากนี้ SCGC ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของพลาสติกใช้แล้วในกลุ่มของ Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) หรือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถึงแม้แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเสียหาย แต่ยังมีขยะจำนวนไม่น้อยที่ตัวเนื้อพลาสติกยังคงมี Intrinsic Property หรือคุณสมบัติที่ดีอยู่ จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าทำอย่างไรที่จะปรับปรุงและนำกลับมาใช้ได้อีกหลาย ๆ รอบ โดยยังคงคุณภาพสูง

“สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ในปี 2565 มีจำนวนขยะ WEEE สูงถึง 439,495 ตัน เมื่อนับแค่จำนวนพลาสติกก็อาจมีปริมาณถึงหลักหมื่นตัน ซึ่งหากเราไม่นำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธี ขยะดังกล่าวอาจนำไปสู่กระบวนการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม เช่น เผาทำลายหรือฝังกลบ ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพอนามัยของผู้คนและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย แต่หากนำมา Upgrade Value ใหม่ นำมาทำ Second life หรือ Third life ก็จะมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดที่มีกลุ่มคนให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีคนที่พร้อมเป็น Early Adopters มากขึ้น เราสองบริษัทจึงได้มาร่วมมือกันเพื่อตอบโจทย์ตลาดตรงนี้ด้วย”

ผู้บริโภคลงทุนเปลี่ยน เพื่อโลกที่แคร์ นางสาวเสาวณีย์ เน้นย้ำว่า ปัจจุบันคนไทยตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้คนรับรู้ถึงความเปลี่ยนไปของธรรมชาติอย่างชัดเจนผ่านภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบกับตัวเขาเอง สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนผ่านการเก็บข้อมูล ความต้องการของลูกค้าโฮมโปรว่า ผู้ใช้บริการจำนวนกว่า 20% ยินดีที่จะซื้อสินค้ารักษ์โลก และยินดีที่จะจ่ายเพิ่มหากสินค้าเหล่านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยช่วงราคาที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเพิ่มอยู่ที่ราว 10% สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้โฮมโปรเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อสินค้าและบริการที่จะทำให้ชีวิตเขาและโลกใบนี้ดีขึ้น “เมื่อเห็นตลาดที่ชัดเจน ทางโฮมโปรจึงตั้งเป้าไว้ว่า ในภาพใหญ่เราต้องการขายสินค้า Circular Products อย่างน้อย 20% ของรายรับรวม ซึ่งเป้านี้เป็นเป้าสำคัญที่เราพยายามเดินทางไปด้วยกันกับ SCGC นอกจากนี้อะไรที่เป็นพลาสติกทั้งหมดเราพยายามจะนำกลับไปรีไซเคิลให้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายไปแล้วนำกลับมารีไซเคิล หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานพวกฟิล์มพลาสติก สายรัดต่าง ๆ เราก็สำรวจอยู่ถึงแนวทางความเป็นไปได้ ซึ่งจะทำงานร่วมกับ SCGC ต่อไป”

หลังจากการตั้งเป้าข้างต้น ทำให้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแบรนด์ต่างตบเท้าให้ความสนใจอย่างล้นหลาม สำหรับโฮมโปรเอง ประโยชน์ที่ได้คือ ภาพลักษณ์ที่ดี ได้เรื่องของมูลค่าแบรนด์ ได้เป็นผู้นำในวงการนี้ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก’ โฮมโปรได้สร้างความมั่นใจให้กับแบรนด์ฯ ที่ร่วมโครงการ ผ่านการช่วยส่งเสริมการขายด้วยโปรโมชันหรือส่วนลด ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือทำการตลาดโฆษณา ซึ่งจะเห็นได้ถึงแนวทางการทำงานที่เอื้อประโยชน์กันทั้งวงจรอย่างยั่งยืน

แม้เป็น Circular Products แต่ไม่เคยประนีประนอมเรื่องคุณภาพ สินค้า Circular Products แม้จะเป็นแนวโน้มสินค้าที่ยั่งยืนสำหรับโลกใบนี้ ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่หลายประการ เช่น ต้นทุนสินค้าที่สูงกว่าสินค้าปกติ การออกแบบที่มีความสลับซับซ้อน ขั้นตอนการผลิตขึ้นรูป รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจยังไม่คุ้นเคยและ ขาดความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ ซึ่ง ดร.สุรชา ได้เน้นย้ำว่า เรามีการควบคุมในทุก ๆ ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การจัดเก็บ การตรวจเช็กปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของแบรนด์ และผู้บริโภค “ทาง SCGC มีกระบวนการด้านนวัตกรรม และการผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลการทำเม็ดพลาสติก SCGC GREEN POLYMERTM จะถูกตรวจสอบคุณภาพของเม็ดด้วยมาตรฐานเดียวกับ Virgin Resin หรือพลาสติกใหม่ เมื่อนำไปขึ้นรูปก็มีการตรวจสอบอีก เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนมีการตรวจสอบ

จนกว่าจะได้เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้เจ้าของแบรนด์สินค้าแต่ละเจ้าก็มีมาตรฐานภายในเองอีก ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าแต่ละแบรนด์จะไม่มีทางประนีประนอมในเรื่องของคุณภาพอยู่แล้ว”

แม้การทำธุรกิจตามแนวทาง ESG จะเต็มไปด้วยต้นทุน ข้อจำกัดและความท้าทายมากมาย ทว่าทุกอย่างต้องมีก้าวแรก ซึ่งวันนี้ SCGC และ HomePro ได้ตัดสินใจเดินทางบนเส้นทางรักษ์โลกนี้แล้ว

“ผมคิดว่า SCGC เราโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับ HomePro ที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้คล้ายกัน จุดเริ่มต้นนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีต้นทุน มันใช้แรง ความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเกิดขึ้น ถ้าต่างคนต่างคิด หรือคิดไม่ครบวงจร เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้น จะเห็นว่าต้องมีทั้งผู้บริโภคที่ให้ความสนใจ ผู้ประกอบการที่เต็มใจและมีความพร้อมในการทำเรื่องใหม่ ๆ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้กำไร ในวันแรกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทุนมหาศาล เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการหาผู้ประกอบการที่พร้อมมาจับมือกันเป็น Value Chain ให้ครบวงจร และเดินไปด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในวันนี้เราทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ” ดร.สุรชา ทิ้งท้าย #SCGC #Homepro #GreenPolymer #CircularProducts

ลิงก์ข่าวอ้างอิงที่ :https://www.prachachat.net/advertorial/news-1545573

 
เพิ่มสินค้าจำนวน ชิ้นลงรถเข็นแล้ว
{product_name}
จำนวน 1 ชิ้น
สินค้าแนะนำ