ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม ระบบน้ำ ระบบไฟ จัดการอย่างไรเมื่อน้ำลด?
• สิ่งที่ต้องทำเมื่อต้อง ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม
1. การสำรวจบ้านหลังน้ำลดก่อนลงมือ ซ่อมบ้าน 2. การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟ 3. การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบน้ำ• การสำรวจบ้านหลังน้ำลดก่อนลงมือ ซ่อมบ้าน
1. สำรวจด้วยความระมัดระวัง
สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกเพื่อให้ทราบรายละเอียดว่าบ้านได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ต้อง ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม ตรงจุดไหนบ้าง คือ การสำรวจบ้านอย่างละเอียดเสียก่อน โดยขั้นตอนการสำรวจบ้านหลังน้ำลดให้พึงระลึกไว้เสมอเลยครับว่าอาจมีพวกสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยหรือหลบอยู่ภายในบ้าน จึงควรเข้าไปสำรวจบ้านในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเพียงพอ พยายามสังเกตุจุดที่จะสำรวจว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ก่อนจะเดินเข้าไปสำรวจในระยะใกล้ หรือในจุดที่มีสิ่งของวางทับถมกันมาก ๆ หรือเป็นมุมอับก็อาจจะใช้ไม้ยาว ๆ ช่วยในการแหวกทางนำหน้าก่อนเดินเข้าไป นอกจากนี้ยังแนะนำให้แต่งกายมิดชิด สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่ช่วยปกป้องขาและเท้าได้ ในกรณีที่พบสัตว์อันตรายก็ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดการ เพื่อเคลียร์ทั้งบ้านให้พร้อมก่อน ซ่อมบ้าน ครับ2. สำรวจความเสียหายของรั้วบ้าน
นอกจากการสำรวจภายในบ้านเพื่อ ซ่อมบ้าน แล้ว บริเวณรั้วบ้านที่อยู่ภายนอกก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยการสำรวจรั้วในเบื้องต้นให้ลองสังเกตดูว่ามีรอยร้าวหรือไม่ มีการทรุดตัวหรือเอียงไหม หากพบว่ามีการชำรุด ทรุด เอียง ก็ควรหาไม้หรือเหล็กที่สามารถรับน้ำหนักรั้วได้มาทำการค้ำยันไว้ชั่วคราว แล้วติดต่อให้ช่างมาทำการซ่อมแซมให้ โดยหากเสาและคานปูนยังอยู่ในสภาพดีก็สามารถทุบรื้ออิฐบล็อกส่วนที่เสียหายออกเพื่อก่อใหม่ได้ แต่หากเกิดความเสียหายหลายจุดอาจต้องพิจารณาการก่อใหม่ด้วยวัสดุที่เบากว่า เพื่อช่วยให้โครงสร้างรั้วไม่ต้องรับน้ำหนักมากเกินไป เช่น การก่อด้วยอิฐมวลเบา หรือการเปลี่ยนรั้วอิญเป็นรั้วไม้ เป็นต้น แต่กรณีที่รั้วมีการทรุด หรือเอียง ต้องรื้อถอนออกและทำใหม่เท่านั้น หรือหากพื้นดินบริเวณใต้แนวกำแพงรั้วเป็นโพรงจากการถูกกระแสน้ำซัดทำลาย แนะนำให้รีบทำแนวอิฐบล็อกแล้วอัดดินเสริมให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ดินไหลออกไปจนสร้างความเสียหายต่อฐานรากของรั้วได้ ถือเป็นหนึ่งจุด ซ่อมบ้าน ที่สำคัญ แต่หลายคนอาจมองข้ามไปครับ• การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟ
1. ทดสอบระบบไฟฟ้า
เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตในช่วงที่เกิดน้ำท่วม สิ่งแรกที่ทุกบ้านทำคงจะเป็นการปิดคัทเอ้าท์ไฟ หรือปิดวงจรไฟฟ้าทั้งระบบไม่ให้ไม่กระแสไฟฟ้าอยู่เลย ดังนั้น หลังจากน้ำลดจนทุกอย่างแห้งสนิทดีแล้ว แนะนำให้ลองทดสอบระบบไฟฟ้าว่ายังใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ โดยการเปิดคัทเอ้าท์ไฟเพื่อให้กระแสไฟเข้ามาในระบบ ซึ่งหากมีปลั๊กไฟจุดใดจุดหนึ่งที่ยังมีความชื้นอยู่ เมื่อทำการเปิดคัทเอ้าท์ไฟแล้ว คัทเอ้าท์จะตัดไฟและทำให้ฟิวส์ขาด กรณีนี้ให้เปลี่ยนฟิวส์ใหม่ทิ้งไว้อย่างน้อยหนึ่งวันให้ความชื้นระเหยออกไปให้หมดก่อนจะทดสอบใหม่อีกครั้ง หากยังเป็นเหมือนเดิมแนะนำให้ติดต่อช่างไฟหรือผู้เชี่ยวชาญให้มาตรวจสอบและแก้ไขให้เพื่อความปลอดภัยนะครับ หากลองทดสอบด้วยการเปิดคัทเอ้าท์ไฟแล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็ให้ลองทดสอบเปิดไฟทีละจุดเลยครับ หรือสามารถใช้ไขควงวัดไฟมาลองตรวจสอบตามปลั๊กไฟ หรือสวิตช์ไฟว่ามีจุดไหนที่ไม่มีกระแสไฟฟ้ามาตามปกติหรือไม่ หากมีจุดที่มีปัญหา แนะนำให้รอให้ความชื้นระเหยออกไปเสียก่อน แล้วค่อยทดสอบใหม่ แต่ถ้ายังไม่หายก็แนะนให้ติดต่อช่างมาเปลี่ยนปลั๊กไฟ หรือสวิตช์ไฟที่จุดนั้น ๆ ครับ และนอกจากจะทดสอบตามขั้นตอนเหล่านี้แล้ว อีกหนึ่งวิธีที่แนะนำคือให้ลองปิดไฟทุกจุดภายในบ้าน รวมถึงปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกจุดออกโดยไม่ต้องปิดคัทเอาท์ไฟ จากนั้นให้ตรวจสอบดูมิเตอร์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าว่ายังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่นั่นแปลว่าอาจมีไฟรั่วอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งในบ้าน ให้รีบติดต่อช่างไฟมาแก้ไขโดยด่วนเลยครับ2. ปรับเปลี่ยนระบบไฟเพื่อป้องกันปัญหาหากเกิดน้ำท่วมซ้ำ
ในกรณีที่ประเมินดูแล้วว่าทำเลบ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำ ๆ และเบื่อที่จะต้องตาม ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม ด้วยการแก้ปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกครั้ง ก็แนะนำให้ถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อช่วยป้องกันปัญหาในอนาคต โดยแนะนำให้ตัดปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟบริเวณชั้นล่างของบ้านที่อยู่ต่ำ ๆ ออกให้หมด และปรับตำแหน่งใหม่ให้สูงจากพื้นประมาณ 1.10 ม. จากนั้นควรแยกวงจรไฟฟ้าออกเป็นวงจรหลัก ๆ คือ วงจรไฟฟ้าสำหรับชั้นล่างที่น้ำอาจท่วมถึง วงจรไฟฟ้าสำหรับชั้นบนที่น้ำท่วมไม่ถึง และวงจรไฟฟ้าที่ควบคุมเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมระบบไฟฟ้าได้อย่างอิสระ และสะดวกต่อการบำรุงรักษาและซ่อมแซมด้วยครับ• การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบน้ำ
1. ตรวจสอบแท้งค์น้ำภายในบ้าน
ระบบน้ำ เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญสำหรับการ ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม เพราะถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น ทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้น้ำ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแท้งค์น้ำบนดิน หรือแท้งค์น้ำใต้ดิน ก็ล้วนต้องตรวจสอบดูว่ามีการชำรุดเสียหายจนทำให้น้ำสกปรกและสิ่งสกปรกไหลเข้ามาปะปนกับน้ำในแท้งค์น้ำหรือไม่ สำหรับแท้งค์น้ำบนดิน โดยเฉพาะแท้งค์น้ำที่ผลิตจากสเตนเลส เมื่อเกิดน้ำท่วมขังยาวนานหลายเดือนก็มักจะมีปัญหาเรื่องสนิม ซึ่งเบื้องต้นก็สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการอุดรอยรั่ว แต่ก็เป็นการซ่อมแซมเพื่อใช้งานต่อเนื่องในระยะสั้น เพราะมีโอกาสที่จะรั่วซึมได้อีก หากมีงบประมาณมากพอก็แนะนำให้เปลี่ยนจากแท้งค์น้ำสเตนเลสเป็นแท้งค์น้ำแบบไฟเบอร์กลาสที่มีความทนทานและไม่มีปัญหาสนิมกวนใจในระยะยาวครับ สำหรับแท้งค์น้ำใต้ดินนั้นแนะนำให้ตรวจสอบบริเวณฝาของ แท้งค์น้ำ อย่างละเอียด เพราะหากฝาของแท้งค์น้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดีพอ หรือมีการชำรุด ก็ย่อมจะมีน้ำสกปรกจากน้ำท่วมเข้าไปปะปนอยู่ภายในแท้งค์น้ำแน่นอน อย่างไรก็ดี แม้จะไม่พบการรั่วซึมก็ควรล้างทำความสะอาดแท้งค์น้ำให้สะอาด โดยไม่ต้องเสียดายน้ำในแท้งค์ครับ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำสกปรก หรือสิ่งสกปรกเล็ดลอดเข้ามาปะปนภายในถังน้ำได้ ในเบื้องต้นสามารถแก้ปัญหาได้โดยการต่อท่อน้ำตรงจากท่อประปาหน้าบ้านเข้ามาภายในตัวบ้านเลยครับ (ห้ามต่อผ่านปั๊มน้ำนะครับ) เพราะโดยปกติแล้วบ้านที่มีแท้งค์น้ำใต้ดินจะมีวาล์วสำหรับเปิดให้น้ำประปาจากท่อน้ำหน้าบ้านเข้ามาในบ้านโดยตรงอยู่แล้ว สามารถเปิดวาล์วตัวนี้เพื่อใช้น้ำสะอาดได้เลยครับ แม้น้ำที่ได้จะไหลเบากว่าเดิมแต่ก็เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว เมื่อน้ำลดจนกลับสู่ภาวะปกติแล้วแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้แท้งค์น้ำบนดินแทนครับ2. ติดต่อช่างซ่อมแซมปั๊มน้ำ
สำหรับบ้านที่มีการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อใช้ร่วมกับแท้งค์น้ำอยู่แล้ว ในกรณีที่น้ำท่วมปั๊มน้ำก็ให้ประเมินไว้ได้เลยว่าได้รับความเสียหายแน่นอน หากฝืนใช้งานไปอาจเกิดอันตรายจากความชื้นภายในมอเตอร์ได้ วิธีแก้ไขจึงต้องทำให้ปั๊มน้ำแห้ง ไม่มีความชื้นหลงเหลืออยู่ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าแค่นำปั๊มน้ำมาผึ่งแดดแรง ๆ ก็น่าจะหายแล้ว แต่นั่นเป็นวิธีที่ผิดและอันตรายมากครับ เพราะความร้อนอาจทำให้ตัวมอเตอร์เกิดเพลิงไหม้ได้ วิธีที่ถูกต้องจึงต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซม หรือทำให้แห้งด้วยวิธีเฉพาะทางเทคนิคครับ3. จัดการกับรางน้ำ ท่อน้ำ และบ่อพักน้ำต่าง ๆ
ผลกระทบจากน้ำท่วมอีกหนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือขยะจากทั่วทุกสารทิศ รวมทั้งโคลนตมต่าง ๆ ที่จะมาสะสมอยู่ภายในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นหลุมเป็นบ่ออย่างบ่อพักน้ำรอบบ้าน รางน้ำ หรือแม้แต่ภายในท่อน้ำต่าง ๆ เป็นที่มาของปัญหาท่อน้ำอุดตัน เป็นแหล่งรวมสัตว์อันตราย และกลิ่นเหม็นรบกวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเคลียร์สิ่งสกปรกเหล่านี้คือให้ใช้พลั่วตักเศษขยะ และดินโคลนขึ้นมาใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะ ห้ามนำไปทิ้งตามแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงห้ามฉีดไล่ขยะลงไปตามท่อระบายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอุดตันได้ในภายหลัง ส่วนบ่อพักน้ำที่ยังมีน้ำขังอยู่ก็สามารถใส่น้ำหมักชีวภาพลงไปเพื่อช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ครับ แน่นอนว่าสถานการณ์น้ำท่วมนั้นสร้างความเสียหายต่อบ้านทั้งหลัง ซึ่ง HomeGuru เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงทราบวิธี ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม โดยพื้นฐานกันอยู่บ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการ ซ่อมบ้าน บนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อชีวิต อย่างการจัดการระบบน้ำ ระบบไฟ ดังที่ได้หยิบยกเทคนิคดี ๆ มาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับหลาย ๆ คนที่ต้องรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และขอเป็นกำลังใจให้ผ่านไปได้ด้วยดีนะครับ หากใครมีปัญหาอยากปรึกษาเรื่องการซ่อมแซมบ้านเพิ่มเติม หรือกำลังมองหาเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการก็สามารถแวะเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้ที่โฮมโปรสาขาใกล้บ้าน หรือเลือกชมสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้แค่คลิก www.homepro.co.th สอบถามเพิ่มเติมได้ทาง Call Center 1284 ครับสอบถามบริการเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Home Service by HomePro : m.me/Homeservicebyhomepro Line : https://lin.ee/uN8D4Zl หรือ @Homeproservice Call Center : 1284 Mobile app : https://bit.ly/372RTMT โปรโมชั่นเพิ่มเติมจาก Home Service : https://bit.ly/3Bj8Yzs