โถปัสสาวะ เป็น
สุขภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อคุณผู้ชายโดยเฉพาะ แต่กลับเป็นสุขภัณฑ์ห้องน้ำที่อยู่ในรายการสิ่งที่ต้องมีของคุณแม่บ้านไม่น้อยเลย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาประจำบ้านอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ ในบ้านที่มีสมาชิกทั้งชายและหญิงอยู่ร่วมกัน คือ ปัญหาความสะอาดในการใช้โถสุขภัณฑ์ร่วมกัน เนื่องจากธรรมชาติการขับถ่ายของชายและหญิงมีความแตกต่างกัน ความรอบคอบและเป็นระเบียบเรียบร้อยของทั้งสองเพศก็แตกต่างกันไม่มากก็น้อย ปัญหา ผู้ชายฉี่ไม่ยกฝา สำหรับบางบ้านอาจกลายเป็นปัญหาให้กระทบกระทั่งกันบานปลายใหญ่โตได้
การติดตั้งโถปัสสาวะจึงเป็นอีกหนึ่ง วิธีแก้ปัญหาผู้ชายฉี่เลอะ ที่ HomeGuru อยากแนะนำครับ
โถปัสสาวะ ดีอย่างไรและสำคัญแค่ไหน
นอกจากการติดตั้ง โถปัสสาวะ จะเป็นการแก้ปัญหา
ผู้ชายฉี่ไม่ยกฝา เรื่องดราม่าในครอบครัวแล้ว ยังเหมาะกับการถ่ายเบาของคุณผู้ชายมากกว่า เพราะมีรูปทรงที่รองรับการใช้งานแบบยืนซึ่งเป็นธรรมชาติของผู้ชาย ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน สามารถดูแลทำความสะอาดได้ง่ายกว่า ช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สุขภัณฑ์แบบ
ชักโครก และยังทำหน้าที่แบ่งพื้นที่
ห้องน้ำให้เป็นสัดส่วนไปในตัวด้วยครับ
ประเภทของ โถปัสสาวะ
ในปัจจุบันโถปัสสาวะมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายรูปทรง และมีหลายขนาดให้เลือกติดตั้ง เพื่อความเหมาะสมกับสรีระแต่ละแบบ ซึ่งโดยทั่วไปหากแบ่งตามการติดตั้งจะสามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. โถปัสสาวะแบบตั้งพื้น
ส่วนใหญ่แล้วโถปัสสาวะแบบตั้งพื้นจะมีขนาดใหญ่ ออกแบบมาให้มีความสูงที่รองรับการใช้งานจากผู้ใช้งานทุกวัย และสรีระทุกแบบ จึงเป็นที่นิยมสำหรับการติดตั้งในห้องน้ำสาธารณะมากกว่าการติดตั้งในตัวบ้าน แต่ปัจจุบันโถปัสสาวะแบบตั้งพื้นก็มีการออกแบบให้มีขนาดเล็กลง และมีรูปทรงที่หลากหลาย มีสไตล์มากขึ้น จึงมีการเลือกมาติดตั้งกับห้องน้ำภายในบ้านมากขึ้นครับ สำหรับการติดตั้งโถปัสสาวะแบบตั้งพื้น จะมีทั้งแบบต่อท่อน้ำทิ้งลงพื้น และแบบต่อท่อน้ำทิ้งออกผนังที่ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากการติดตั้งไม่ยุ่งยาก แตกต่างกับการต่อท่อน้ำทิ้งลงพื้นที่มีความซับซ้อนในการเตรียมพื้นที่หน้างาน และต้องอาศัยควาแม่นยำในการติดตั้งสูงครับ
2. โถปัสสาวะแบบแขวนผนัง
เป็นโถปัสสาวะที่เป็นที่นิยมทั้งภายในบ้านพักอาศัยและในห้องน้ำสาธารณะ เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีรูปทรงหลากหลายให้เลือกตั้งแต่แบบคลาสสิกไปจนถึงแบบโมเดิร์นที่ดูทันสมัย และสามารถติดตั้งได้แม้ในพื้นที่จำกัด หากห้องน้ำมีขนาดเล็กมากก็ยังมีโถปัสสวะแบบเข้ามุมที่ช่วยประหยัดพื้นที่มากขึ้นด้วยครับ การติดตั้งโถปัสสาวะแบบแขวนผนังมีทั้งแบบใช้ตะขอยึดผนังเพื่อแขวนติดตั้ง และแบบพุกยึดผนังกับโถปัสสาวะ โดยระยะความสูงของการติดตั้งวัดจากพื้นจนถึงขอบปากเซรามิคควรอยู่ที่ระยะประมาณ 61 - 65 ซ.ม. แต่ทั้งนี้ สามารถปรับระดับให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานได้ครับ
ระบบชำระล้างของโถปัสสาวะแบบแขวน
นอกจากจะมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานแล้ว โถปัสสาวะแบบแขวนยังมีระบบชำระล้างแตกต่างกันดังนี้ครับ
1. ระบบฟลัชวาล์ว จ่ายน้ำเข้าด้านบน
โดยทั่วไป โถสุขภัณฑ์ ที่รองรับระบบนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปสำหรับการติดตั้งและใช้งาน มี
ฟลัชวาล์วต่อด้านบนเป็นตัวควบคุมการเปิด – ปิดน้ำเพื่อชำระล้าง เหมาะกับทั้งบ้านพักอาศัยและห้องน้ำสาธารณะ การติดตั้งในเบื้องต้นต้องทราบระยะการติดตั้งของโถปัสสาวะที่ต้องการ ทั้งระยะทางน้ำเข้าตรงตำแหน่งฟลัชวาล์ว ระยะทางน้ำออก และระยะความสูงสำหรับการยึดแขวนผนัง นอกจากนี้ยังสามารถเลือกปริมาณน้ำจากฟลัชวาล์วเพื่อใช้สำหรับการชำระล้างได้ โดยสามารถเลือกได้ตั้งแต่ 1 ลิตร ขึ้นไป ตามความเหมาะสมของขนาดโถปัสสาวะ ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดน้ำได้ทางหนึ่งครับ
2. ระบบปุ่มกดน้ำ จ่ายน้ำเข้าด้านหลัง
จะมีลักษณะคล้ายโถปัสสาวะระบบ
ฟลัชวาล์ว แตกต่างกันที่การใช้งานและการเตรียมพื้นที่หน้างานเพื่อติดตั้ง ซึ่งโถปัสสาวะแขวนผนังแบบจ่ายน้ำเข้าด้านหลังนี้ สามารถแบ่งออกได้อีก 2 แบบ คือ
แบบปุ่มกดน้ำ เมื่อมีการกดปุ่มชำระล้าง ตัวควบคุมทางน้ำเข้าด้านหลังกำแพงจะปล่อยน้ำดีออกมาตาม
ท่อเพื่อชำระล้าง ส่วนน้ำเสียจะไหลลงสู่ท่อน้ำทิ้งต่อไป การติดตั้งจะต้องเตรียมรูท่อน้ำดีและรูท่อน้ำทิ้งตามระยะของโถสุขภัณฑ์แต่ละรุ่น รวมถึงเตรียมชุดอุปกรณ์ฟลัชติดผนัง ได้แก่ ชุดปุ่มกดสำหรับกดควบคุมระบบชำระ และชุดอุปกรณ์ฟลัชที่จะถูกต่อเข้ากับรูท่อน้ำดีเพื่อสั่งให้น้ำดีทำงาน โดยทั้งหมดนี้จะต้องติดตั้งด้านหลังกำแพง จึงต้องเช็คระยะการการติดตั้งให้แน่ชัดครับ
แบบระบบ Sensor อัตโนมัติ ด้วยรังสีอินฟาเรด โดยจะตรวจจับสัญญาณเมื่อมีผู้ใช้งาน มีการติดตั้งคล้ายกันกับระบบปุ่มกด แต่จะมีเรื่องระบบไฟฟ้าเพิ่มเติมเข้ามา โดยจากไฟบ้านปกติผ่านตัวแปลงไฟเพื่อต่อเข้ากับระบบการทำงาน Sensor ของโถปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไปจะสามารถสั่งงานได้หลายรูปแบบแล้วแต่ความสามารถของแต่ละรุ่น เช่น ชำระล้าง 2 ครั้ง ก่อนและหลังการใช้งาน , ชำระล้างแบบต่อเนื่องเมื่อมีการใช้งานติดต่อกันแบบเร่งด่วน , ชำระล้างภายใน 24 ชั่งโมงเพื่อป้องกันการสะสมของคราบไคลต่างๆ และเพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน เป็นต้น
ระยะการติดตั้งโถปัสสาวะ
ระยะสำหรับติดตั้ง โถปัสสาวะ นั้นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ใช้งานครับ โดยเฉพาะโถปัสสาวะแบบแขวนผนังที่ต้องวัดระยะจากพื้นจนถึงขอบปากเซรามิคให้อยู่ที่ระยะประมาณ 61 - 65 ซ.ม. สำหรับโซนเอเชีย ส่วนในกรณีติดตั้งในห้องน้ำสาธารณะอาจต้องพิจารณาเรื่องความสูงโดยเฉลี่ยของผู้ใช้งานที่ใส่รองเท้าขณะใช้งานด้วยครับ
ระยะการติดตั้งโถปัสสาวะสำหรับเด็กก็มีความแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ เพื่อความเหมาะสมกับสรีระของเด็กแต่ละวัย โดยช่วงอายุ 2 ขวบ จะมีระยะติดตั้งวัดจากพื้นจนถึงขอบปากเซรามิคประมาณ 230 มม. เด็กอายุ 3 ขวบ อยู่ที่ระยะ 260 มม. เด็กอายุ 4 ขวบ อยู่ที่ระยะ 310 มม. และเด็กอายุ 5 ขวบ อยู่ที่ระยะ 330 มม. ตามลำดับครับ สำหรับโถปัสสาวะที่ติดตั้งในโรงเรียนอนุบาล หรือห้องน้ำสาธารณะสำหรับเด็กชายที่มีความแตกต่างด้านส่วนสูงมาก อาจต้องพิจารณาเลือกโถปัสสาวะรูปทรงยาว เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครอบคลุมครับ
ถึงแม้ว่าการติดตั้ง
โถสุขภัณฑ์ จะไม่ใช่
วิธีแก้ปัญหาผู้ชายฉี่เลอะ ให้หายขาด แต่ก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่
HomeGuru เห็นว่าได้ผลไม่น้อย โดยจำกัดขอบเขตความเลอะเทอะให้เป็นที่เป็นทางได้มากขึ้น เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านของสมาชิกครอบครัวทุกเพศทุกวัยครับ