Solar Rooftop ดียังไง เป็นหนึ่งในคำถามที่ต้องกล่าวถึงทุกครั้งเมื่อพูดถึงการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ เพราะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด คำว่า โซลาร์รูฟท็อป ก็ไม่ใช่คำแปลกใหม่อีกแล้ว แต่เป็นคำที่ค่อนข้างคุ้นหูและเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง แต่
HomeGuru เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจแน่ชัดว่า Solar Rooftop ดียังไง คุ้มค่าจริงหรือไม่ แต่สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้ครับ
Solar Rooftop คืออะไร
โซลาร์รูฟท็อป คือ ระบบโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งโดยหลักแล้วระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) ไม่ว่าจะติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) หรืออุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าโดยแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ต่างก็ทำงานบนหลักการเดียวกัน คือ แผงโซล่าร์เซลล์ (Solar Panel) จะแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เป็นกระแสไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ซึ่งเรียกปฏิกิริยานี้ว่า Photovoltaic Effect จากนั้นไฟฟ้ากระแสตรงจะสามารถถูกนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ หรือเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Inverter และสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านได้
ประเภทของ Solar Rooftop
เมื่อทราบแล้วว่า Solar Rooftop คืออะไร ก็ต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของมันก่อนครับ เพราะจะมีผลต่อ การออกแบบ Solar Rooftop สำหรับติดตั้งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน ซึ่ง Solar Roof Top ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 3 แบบดังนี้ครับ
1. Solar Roof Top แบบ On Grid System
ระบบโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบออนกริด (On-grid System) ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ผลิตเหลือจากการใช้ในแต่ละวันสามารถขายคืนให้กับทางภาครัฐได้ ถือเป็นระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ทั้งบ้านและภาคธุรกิจ รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเน้นการใช้งานจริงในตอนกลางวัน และตอนกลางคืนสลับไปใช้ไฟปกติ ปัจจุบันเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจติดตั้งระบบโซล่าร์รูฟท็อป เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง แบตเตอรี่หรือเปลื่ยนแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง ระบบออนกริดติดตั้งถาวรมีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 25 ปี ระบบมีความทนทาน และมีขนาดกำลังผลิต(KW) ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้งาน แต่ระบบออนกริดจะไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าถ้าไม่มีไฟฟ้ามาจากสายส่งในกรณีที่การไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟเพื่อซ่อมบำรุง เพราะถ้าระบบออนกริดยังจ่ายไฟฟ้าอยู่ ไฟฟ้าจะย้อนเข้าสู่สายส่ง ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ ระบบออนกริดที่ดีจึงต้องมีอุปกรณ์ที่ป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับสายส่ง เรียกว่า ZERO EXPORT ด้วยครับ
2. Solar Roof Top Off Grid System
ระบบโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาโดยใช้แบตเตอรี่ แต่ไม่เชื่อมต่อกับ
สายไฟฟ้าของการไฟฟ้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบออฟกริด (Off-grid System) เป็นระบบที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรรี่สำรอง (Off grid) โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับสายของการไฟฟ้าฯ โดยโซล่าร์เซลล์จะผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านตัว Charge controller เพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ ในช่วงกลางวันที่มีแสงอาทิตย์เพียงพอ กระแสไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์จะสามารถผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และ inverter แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เพื่อนำไปใช้กับ
อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน และส่วนที่ผลิตเกินออกมาจะถูกนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ส่วนในเวลากลางคืนระบบก็จะใช้กระแสไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือต้องการใช้เพื่อสำรองไฟไว้ใช้เมื่อยามที่ไฟฟ้าดับ เป็นต้น ระบบออฟกริดนั้นต้องใช้การคำนวณที่ถูกต้องของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของบ้าน เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในประจำวันหรือแม้แต่ในฤดูที่มีแสงแดดน้อย อีกทั้งราคาของแบตเตอรี่และออฟกริดอินเวอร์เตอร์นั้นสูงกว่าระบบออนกริดอยู่มาก ดังนั้นระบบออฟกริดจึงนิยมใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ส่วนใหญ่จะใช้ควบคู่กับเครื่องปั่นไฟ ในกรณีที่แบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุ ฝนตก ท้องฟ้ามืดครึ้ม หรือมีเมฆ มีฝุ่นหรือหมอกมาบดบังแสงอาทิตย์ครับ
3. Solar Roof Top Hybrid System
ระบบโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาโดยใช้แบตเตอรี่ และเชื่อมต่อกับสายไฟฟ้าของการไฟฟ้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบไฮบริด (Off-grid System) ซึ่งเป็นการนำเอาระบบออนกริดและออฟกริดมารวมกัน (Hybrid) คือจะมีระบบแบตเตอรี่ มาสำรองพลังงาน หลักการทำงาน คือ เมื่อแผงโซล่าร์เซลล์ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) แล้วส่งต่อมายังไฮบริดอินเวอร์เตอร์เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ซึ่งก็จะเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้าฯ ขั้วหนึ่งต่อเข้ากับแบตเตอรี่ และอีกขั้วหนึ่งก็ต่อไฟฟ้าไปใช้งานต่างๆ เวลาที่ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเกินจากปริมาณใช้งานภายในบ้าน กระแสไฟฟ้าจากระบบจะถูกนำไปเก็บไว้แบตเตอรี่จนจนเต็มความจุจึงหยุด และจะจ่ายไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ภายในบ้านอีกครั้ง อาจจะเป็นตอนกลางคืนที่ปกติแล้วค่าไฟฟ้าจะแพงกว่าตอนกลางวัน ระบบไฮบริดเป็นระบบที่มีราคาแพงที่สุด และยังไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมากนัก
การเลือกใช้ Solar Rooftop ให้เหมาะกับบ้าน
การออกแบบ Solar Rooftop ให้เหมาะกับบ้านนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องหาข้อมูลก่อน เนื่องจากระบบโซล่าร์รูฟท็อปมีราคาค่อนข้างสูงและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 25 ปี การเลือกขนาดของระบบโซล่าร์รูฟท็อปให้เหมาะสมกับบ้าน หรือ อาคารที่จะติดตั้งนั้นจึงสำคัญมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop คุ้มไหม เมื่อติดตั้งไปแล้วจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนหรือไม่ หรือแปลง่ายๆ ว่าเราต้องใช้
อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของระบบโซล่าร์รูฟท็อปที่ผลิตได้ในชั่วโมงนั้นๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นเอง
ดังนั้นการจะเลือกขนาดของระบบโซล่าร์รูฟท็อปจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยต้องอาศัยข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าจริงจากบิลค่าไฟฟ้า หรือแผนการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่อาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นมา โดยใช้วิธีประเมินปัจจัยหลัก ๆ 2 ข้อ ว่าเราใช้ไฟเท่าไหร่ในแต่ละวันโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน และประเมินขนาดของพื้นที่ที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งการคำนวณหาขนาดของระบบสามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
1. ประเมินจากบิลค่าไฟที่ใช้
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการคำนวณ โดยเบื้องต้นต้องดูพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแล้วประมาณการว่าการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวัน (08:00-17:00น.) และกลางคืน (17:00-08:00น.) คิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น ใน 1 เดือนมีบิลค่าไฟฟ้า 5,000 บาท เราประเมินการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันเป็น 70% กลางคืน 30% ของค่าไฟทั้งหมด เพราะฉะนั้น อัตราการใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันต่อเดือนจะอยู่ที่ 3,500 บาท, ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย ดังนั้นในช่วงกลางวันเราใช้ไฟเท่ากับ 3,500 บาท/4.5 บาท จะเท่ากับ 777 หน่วย จากนั้นเราหาหน่วยต่อชั่วโมงโดยเอา 777 หน่วย/30วัน/9ชั่วโมง เท่ากับ 2.8 หน่วยต่อชั่วโมง ซึ่งจากการคำนวณนี้ระบบที่เหมาะสมที่สุดคือ Solar rooftop ขนาด 3 กิโลวัตต์ เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 3 หน่วยต่อชั่วโมงซึ่งสอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าที่ 2.8 หน่วยต่อชั่วโมงครับ
2. เก็บตัวเลขการใช้ไฟฟ้าจริงจากมิเตอร์ไฟฟ้า
วิธีนี้เป็นวิธีที่ยุ่งยากขึ้นกว่าวิธีแรกแต่ได้ความแม่นยำกว่าเช่นกัน โดยเบื้องต้นให้จดตัวเลขมิเตอร์โดยจดบันทึกตัวเลขหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่
มิเตอร์ครั้งแรกในเวลา 08:00 น. และจดครั้งที่สองในเวลา 17:00 น. ทำเช่นนี้ประมาณ 3 - 7 วัน เพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจริงในตอนกลางวัน ตัวอย่างเช่น วันที่ 1 อ่านเลขมิเตอร์ตอนเช้า 0103 อ่านตอนเย็น 0133 เอา 0133 - 0103 = 30 หน่วย วันที่ 2 อ่านเลขมิเตอร์ตอนเช้า 0153 อ่านตอนเย็น 0173 เอา 0173 - 0153 = 20 หน่วย วันที่ 3 อ่านเลขมิเตอร์ตอนเช้า 0203 อ่านตอนเย็น 0243 เอา 0243 - 0203 = 40 หน่วย จะเห็นว่าภายในระยะเวลา 3 วัน จะเก็บตัวเลขจาก
มิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้จริงรวมทั้งหมด 90 หน่วย หรือหากคิดเป็นการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงคือ 90 หน่วย / 3วัน / 9 ชั่วโมง = 2.5 หน่วย ต่อชั่วโมง ดังนั้นขนาดระบบที่เหมาะสมที่สุดคือ Eve Solar rooftop on ขนาด 3 กิโลวัตต์ เพราะผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 3 หน่วยต่อชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าจริงที่ 2.5 หน่วยต่อชั่วโมง
3. ดูอัตราการกินไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดใช้ในตอนกลางวัน
วิธีนี้คือการหาโดยกำลังไฟฟ้า (วัตต์) ของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดที่มีการเปิดใช้งานในตอนกลางวัน (08:00 - 17:00น) ตัวอย่างเช่น บ้านพักอาศัย 1 หลัง ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในตอนกลางวันดังนี้ 1. แอร์ขนาด 12000 บีทียู จำนวน 1 เครื่อง อัตราการกินไฟประมาณ 800 - 1,000 วัตต์ 2. แอร์ขนาด 18000 บีทียู จำนวน 1 เครื่อง อัตราการกินไฟประมาณ 1,300 - 1,700 วัตต์ 3. ทีวี LED ขนาด 40 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง อัตราการกินไฟประมาณ 70 – 90 วัตต์ 4. พัดลมขนาด 16 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง อัตราการกินไฟประมาณ 45 – 65 วัตต์ 5. ตู้เย็นขนาด 14 คิว จำนวน 1 เครือง อัตราการกินไฟประมาณ 200 วัตต์ 6. หลอดไฟขนาด 9 วัตต์ จำนวน 8 ดวง อัตราการกินไฟประมาณ 72 วัตต์ ผลลัพธ์กำลังไฟฟ้ารวมของทุกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปิดใช้ในตอนกลางวัน คือ 2,927 วัตต์ หมายความว่าในทุกๆ ชั่วโมงจะใช้กำลังไฟฟ้าที่ 2,927 วัตต์ ดังนั้นขนาดระบบที่เหมาะสมที่สุดคือ Eve Solar rooftop on ขนาด 3 กิโลวัตต์ เพราะผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 3 หน่วยต่อชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าจริงที่ 2.927 หน่วยต่อชั่วโมงครับ
ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง Solar Rooftop ตามกฎหมาย
ได้ทราบกันไปแล้วว่า Solar Rooftop ดียังไง และมีอยู่ด้วยกันกี่แบบ แต่การจะติดตั้ง Solar Rooftop ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ทันที เพราะจะต้องมีกระบวนการขออนุญาตหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อน ซี่งการขออนุญาตติดตั้งระบบโซล่าร์รูฟท็อปนั้นจะแบ่งการขออนุญาตออกเป็น 2 แบบคือ 1. การขออนุญาตเพื่อขอขายไฟคืนตามโครงการไฟฟ้าภาคประชาชน (ต้องติดตั้งขนาดที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์) และต้องเป็นบ้านพักอาศัยเท่านั้น (ประเภท1) 2. การขอขนานไฟเพื่อติดตั้ง Solar Rooftop เสรี โดยติดตั้งที่มีกำลังการผลิตได้ทุกขนาดไม่จำกัด โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งการขายไฟคืน หรือการติดตั้งเพื่อใช้ภายในบ้านหรือสำนักงาน จะต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐทั้ง 3 หน่วยงานดังนี้ครับ 1. กกพ.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) เพื่อแจ้งขอเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นและขอรับใบอนุญาตทำการผลิตพลังงานควบคุม 2. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือสำนักงานเขตที่อาคารที่จะติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปตั้งอยู่เพื่อขอรับใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร (อ.1) 3. กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) หรือ กฟภ. (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ในเขตพื้นที่เพื่อให้ตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้ง
ขั้นตอนการยื่นขอติดตั้ง Solar Rooftop
1. ยื่นเอกสารต่อ กกพ. เพื่อแสดงความจำนงในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หลังจากนั้นจะได้ใบอนุญาตให้ผู้ยื่นขอสามารถทำการผลิตพลังงานควบคุมได้ 2. เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีน้ำหนักถึง 22 กิโลกรัม การนำแผงโซลาร์เซลล์จำนวนหลายๆ แผงไปวางบนหลังคา จะต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างหลังคาว่ารับน้ำหนักได้หรือไม่ ผู้ติดตั้งจึงต้องยื่นแบบขอต่อเติมอาคารกับ สำนักงานเขต หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แล้วก็จะได้ใบอนุญาตมา 1 ใบ 3. นำเอกสารทั้ง 2 ส่วนมายื่นต่อการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าฯส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งการไฟฟ้าฯจะนำ
มิเตอร์ไฟฟ้ามาเปลี่ยนให้ใหม่ เป็นมิเตอร์แบบป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับ และหากจะขายไฟฟ้าคืน มิเตอร์ก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่งที่สามารถปล่อยไฟฟ้ากลับคืนสายส่งของภาครัฐได้ โดยขั้นตอนทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไข ของผู้จำหน่ายในแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นๆ ครับ
ขั้นตอนการติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคา
การตรวจสอบพื้นที่บนหลังคา
เมื่อคำนวนจนได้ขนาดของระบบโซลาร์รูฟท็อปที่จะติดตั้งแล้ว ปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกอย่างหนึ่งก็คือพื้นที่ที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ครับ ตัวอย่างเช่น กรณีแผงโซลาร์เซลล์มีขนาดที่ 2 ตารางเมตร คือด้านยาว 2 เมตร และ ด้านกว้าง 1 เมตร แผงโพลีคริสตัลไลน์ขนาด 330W (1 แผง จะใช้พื้นที่ 2 ตารางเมตร) หากต้องการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟขนาด 3 กิโลวัตต์ จะต้องใช้แผงจำนวน 10 แผง เพื่อผลิตไฟฟ้ากระแสตรงป้อนให้อินเวอร์เตอร์ขนาด 3 กิโลวัตต์ นั่นหมายความว่า พื้นที่หลังคาต้องมีพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์อย่างน้อย 20 ตารางเมตร แต่ถ้าพื้นที่บนหลังคาไม่ถึง 20 ตารางเมตรก็สามารถเลือกแผงโมโนคริสตัลไลน์ขนาด 380W (1 แผง จะใช้พื้นที่ 2 ตารางเมตร) ใช้แผงจำนวน 8 แผงเท่านั้น ส่วนกรณีที่ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไปต้องเผื่อพื้นที่หลังคาเพิ่มไปประมาณ 10% สำหรับเว้นระยะแถวของแผงโซล่าร์เซลล์ไว้เป็นทางเดินสำหรับการล้างทำความสะอาดหรือการซ่อมบำรุงด้วยครับ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง
ไม่ว่าระบบ Solar Rooftop ดียังไง ก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะระบบโซล่าร์รูฟท็อปอาจผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 80 - 85% เท่านั้น สาเหตุเกิดจากระยะของสายไฟ ถ้าการเดินสายไฟจากแผงโซล่าร์เซลล์ไปยังอินเวอร์เตอร์ยิ่งไกลก็จะยิ่งสูญเสียกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้อุณหภูมิแวดล้อมที่ตกบนแผงโซล่าร์เซลล์ก็มีผลทำให้ประสิทธิภาพการผลิตตกลงไปได้ ถึงแม้ว่าแผงโซล่าร์เซลล์จะชอบแสงอาทิตย์ แต่ไม่ได้ชอบความร้อนสักเท่าไหร่ รวมถึงเรื่องความสะอาดของแผง เรื่องฝุ่นที่สะสมบนกระจกของแผงโซลาร์เซลล์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงได้ครับ
การบำรุงรักษาระบบ Solar Rooftop
เนื่องจากแผงโซล่าร์เซลล์ มีหน้าที่รับพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง เมื่อใช้งานไปได้ระยะเวลาหนึ่งก็มักจะมีฝุ่นสะสมบนกระจกหน้าแผง ซึ่งจะทำให้การส่องผ่านของแสงไปบนเซลล์แสงอาทิตย์ภายในลดลง ประสิทธิภาพการผลิตก็จะลดลงตามด้วยเช่นกัน ดังนั้นแผงโซล่าร์เซลล์จึงต้องการทำความสะอาด อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพฝุ่นและอากาศของสถานที่ใช้งาน ซึ่งการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์มีดังนี้ครับ
1. ควรเลือกล้างทำความสะอาดแผงในช่วงเช้าตรู่ที่แดดอ่อนหรือช่วงเย็นที่แดดอ่อนแล้วเท่านั้น เพราะการทำความสะอาดในช่วงเวลาแดดจัด หรือแผงยังคงมีอุณหภูมิสูงจะทำให้หลังจากทำความสะอาดแล้ว แผงจะมีรอยคราบตะกรันของน้ำเกิดขึ้น ซึ่งจะทำความสะอาดได้ยากมากขึ้น 2. ใช้น้ำสะอาด หรือ
น้ำผสมน้ำยาล้างจานเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยให้การล้างทำความสะอาดง่ายขึ้น 3. ฉีดน้ำแรงเพื่อไล่ฝุ่นผงจากแผงก่อน จากนั้นใช้ผ้านุ่ม สะอาด ไร้ฝุ่นเม็ดทราย หรือ
ม็อบถูพื้นทำการขัดเช็ดล้างให้ทั่วทุกแผง แต่ระวังอย่าให้มีส่วนที่เป็นโลหะ แหลมคมสัมผัสกับผิวกระจก เพราะอาจทำให้กระจกร้าวหรือแตกได้จากนั้นไล่ฉีดน้ำสะอาดตามให้สะอาดโดยเร็วอย่าให้ทิ้งคราบ เป็นอันจบขั้นตอนการล้างทำความสะอาดแล้วครับ
คงได้เห็นกันไปแล้วนะครับว่า Solar Rooftop ดียังไง และหลายคนคงพอจะตอบคำถามในใจตัวเองได้แล้วว่าการติดตั้ง Solar Rooftop คุ้มไหม สำหรับบ้านของแต่ละคน แม้ว่าเรื่องของโซลาร์รูฟท็อปจะมีรายละเอียดมากมายให้ต้องเรียนรู้ แต่
HomeGuru เชื่อว่าการปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรศึกษาหาข้อมูลเสมอ เพื่อให้ได้ทางเลือกที่หลากหลาย ทันต่อเทคโนโลยี สามารถตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของสมาชิกในบ้านให้สะดวกสบายและมีความสุขที่สุดครับ