HomeGuru คำนึงถึงความปลอดภัยในบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคุณ ปัจจุบันเราใช้
กระจกภายในบ้านเพื่อการตกแต่งและเพื่อการใช้สอยต่างๆ เช่น ประตู หน้าต่าง ราวกันตก ไปจนถึง
ฉากกั้นห้องอาบน้ำ กระจกซึ่งถือเป็นวัสดุที่แตกได้ จึงต้องมีการเลือกใช้ประเภทกระจกให้เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อความปลอดภัย ซึ่งในการออกแบบที่ได้มาตรฐาน พื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน จำเป็นต้องใส่
กระจกนิรภัย โดยพื้นที่ดังกล่าวต้องอยู่ในขอบข่ายความเสี่ยงดังต่อไปนี้ 1.กระจกที่ติดตั้งสูงน้อยกว่า 45 ซม. จากระดับพื้น 2.กระจกที่มีระดับขอบสูงน้อยว่า 92 ซม. จากระดับพื้น 3.กระจกที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 9 ตารางฟุต 4.กระจกที่อยู่ในระยะห่างน้อยกว่า 92 ซม. จากพื้นที่ซึ่งมีคนเดินผ่าน
ซึ่งหากอ่านดูกันแล้ว จะพบว่าพื้นที่ซึ่งสมควรติดตั้งกระจกนิรภัยนั้นล้วนเป็นพื้นที่สำคัญและใช้งานบ่อยครั้งในบ้าน เช่น
บานประตูแบบกระจกเต็มบาน ราวกันตกบันได้หรือระเบียง หน้าต่างและช่องแสงต่างๆ ที่มีระดับจากพื้นไม่มากนั่นเอง และกระจกกั้นแบ่งห้อง หรือกระจกกั้นส่วนอาบน้ำนั่นเอง
กระจกนิรภัย ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ชนิด โดยกระจกแต่ละแบบมีลักษณะและการผลิตที่แตกต่างกัน มีความทนทานแข็งแกร่งต่างกัน ซึ่งหากเข้าใจคุณสมบัติของ
กระจกแต่ละชนิดแล้ว จะช่วยให้การเลือกกระจกนิรภัยชนิดได้เหมาะสมกับการใช้งาน เรามาดูกันว่า กระจกนิรภัยทั้ง 3 ชนิดนั้น มีอะไรบ้าง
กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass)
กระจกชนิดนี้เป็นการนำกระจกธรรมดาผ่านกระบวนการ “เทมเปอร์” ด้วยการนำกระจกผ่านความร้อนสูง และทำให้กระจกเย็นตัวลงอย่างฉับพลัน กระจกด้านนอกจึงแข็งตัวเร็วกว่าภายใน เพราะจะอยู่ในสภาวะความเค้นกด (Compression stress)ส่งผลให้กระจกภายในนั้นอยู่ในสภาะความเค้นดึง (Tension stress) ทำให้กระจกมีความแกร่งทนทานกว่ากระจกธรรมดาถึง 5 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้อีกด้วย เมื่อกระจกเทมเปอร์เกิดการแตก จะแตกเป็นลักษณะเม็ดเล็กๆ คล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความคมน้อย กระจกเทมเปอร์ไม่สามารถตัดหรือเจาะภายหลังที่ผลิตขึ้นแล้วได้ เพราะจะแตกทันที ดังนั้นจึงต้องออกแบบกระจกให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ยึดจับและลักษณะการติดตั้ง
เหมาะสำหรับใช้งานกับประตูไร้กรอบ กระจกตู้โชว์สินค้า ผนังกั้นภายในอาคาร ผนังกั้นส่วนอาบน้ำ รวมถึงใช้ทำเฟอร์นิเจอร์กระจกต่างๆ
กระจกลามิเนต (Laminated Glass)
กระจกชนิดนี้ผลิตขึ้นจากการนำกระจกธรรมดา หรือกระจกเทมเปอร์สองแผ่นมาประกบกัน โดยระหว่างแผ่นนั้นติดตั้งแผ่นพลาสติกใสชนิดโพลีไวนิลบิวทิรัล (Polyvinyl butyral หรือPVB) จากนั้นนำไปอบด้วยความร้อนสูงให้วัสดุทั้งสามชิ้นติดเป็นแผ่นเดียวกัน กระจกลามิเนตเดิมถูกคิดค้นเพื่อใช้ทำกระจกรถยนต์ เมื่อแตกจะร้าวกระจายออกคล้ายใยแมงมุม ชิ้นกระจกจะไม่หลุดร่วงออกมาเป็นอันตราย กระจกชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา รวมถึงช่วยป้องกันความร้อนและรังสียูวีได้มากถึง 97% นิยมนำไปใช้ทำหลังคาสกายไลท์ กระจกราวระเบียง หรือกระจกกั้นห้องที่อยู่สูง ช่วยป้องกันเศษกระจกร่วงสู่ด้านล่าง นอกจากนี้บ้านที่ตั้งติดสนามกอล์ฟหลายแห่งยังนิยมติดตั้งกระจกลามิเนตเพื่อความปลอดภัยจากลูกกอล์ฟที่ลอยมากระทบกระจกไม่ให้เข้ามาภายในบ้าน ข้อด้อยของ
กระจกชนิดคือทนทานน้อยกว่ากระจกธรรมดาที่ความหนารวมเท่ากัน แต่จะได้เปรียบเรื่องความปลอดภัยหากมีการแตก ดังนั้นบางครั้งเราจึงเห็นการนำกระจกเทมเปอร์มาใช้ทำกระจกลามิเนต ซึ่งจะแกร่งทนทานมากขึ้นแต่ก็ตามมาด้วยราคาที่สูงขึ้น
กระจกเสริมลวด (Wire-Reinforced Glass)
กระจกชนิดนี้เป็นตัวเลือกที่มอบความปลอดภัยในกรณีที่แตกเสียหาย ช่วยเสริมความปลอดภัยกรณีไฟไหม้ และป้องกันการโจรกรรมได้ดีกว่ากระจกชนิดอื่นๆ กระจกเสริมลวดผลิตโดยการฝังเส้นลวดโลหะระหว่างการผลิตแผ่นกระจก กระจกชนิดนี้จึงมีความแข็งแรงกว่ากระจกธรรมดาที่มีความหนาเท่ากัน ทนทานต่อแรงกระแทก กรณีมีการแตก ลวดในกระจกจะช่วยยึดไม่ให้กระจกหลุดร่วงออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกระจกโดนความร้อนสูงขนาดเกิดเพลิงไหม้ นอกจากนี้เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยจากการโจรกรรม ในบางกรณี ลวดลายของลวดใน
กระจกยังเหมาะกับสไตล์การตกแต่งอีกด้วย เช่น สไตล์อินดัสเทรียล
ดังนั้นการเลือกประเภทของ
กระจกนิรภัย ควรได้รับคำปรึกษาจากดีไซเนอร์ สถาปนิก ร่วมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เช่น กระจกกั้นห้องอาบน้ำ เป็นต้น ซึ่ง
HomeGuru หวังว่า ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระจกนิรภัยทั้ง 3 ชนิดจะช่วยให้คุณเข้าใจในสิ่งที่ดีไซเนอร์หรือผู้รับเหมาแนะนำ เพราะกระจกนิรภัยมีราคาสูงกว่ากระจกธรรมดา แต่สิ่งที่ได้มาคือความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครับที่ไม่สามารถตีมูลค่าได้