บ้านไหนมี
เครื่องใช้ไฟฟ้า เชื่อแน่ว่าบ้านนั้นต้องมีปลั๊กพ่วงหรือปลั๊กสามตา เพื่อใช้ต่อสายไฟมายังจุดห่างจากเต้าไฟหลัก แต่ใครจะคาดคิดว่า
ปลั๊กพ่วงชิ้นเดียวจะกลายเป็นภัยเงียบ และอาจเป็นต้นตอของไฟไหม้จนบ้านวอดไปทั้งหลังได้ ซึ่งผลการวิเคราะห์สาเหตุส่วนใหญ่ของไฟที่ไหม้เกิดจากปลั๊กพ่วงพบว่า เกิดจากการใช้ปลั๊กพ่วงผิดวิธีทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและการซื้อปลั๊กพ่วงที่ไม่มีคุณภาพ ผลิตไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน ปลั๊กพ่วงที่เรามักจะนำมาใช้ควบคู่กับอุปกรณ์ไฟฟ้านี้จึงไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่ต้องเลือกซื้ออย่างพิถีพิถัน เนื้อหานี้
HomeGuru ได้รวบรวม
วิธีซื้อปลั๊กพ่วง ที่ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงบานปลายกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินในภายหลังมาฝากกันครับ
วิธีซื้อปลั๊กพ่วง ให้ได้มาตรฐาน ไม่ต้องกลัวไฟไหม้
1. มีสัญลักษณ์ มอก.ปลั๊กพ่วงชัดเจน
ปลั๊กพ่วง แม้จะเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็ก แต่การเลือกซื้อทุกครั้งต้องมองหาเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 2432-2555 หรือมอก.ปลั๊กพ่วง ที่ต้องแสดงบนตัวสินค้าหรือกล่องอย่างชัดเจน สังเกตดีๆ ว่าต้องไม่ใช่ มอก.สายไฟ (มอก.11-2531) ซึ่งจะระบุเฉพาะมาตรฐานของ
สายไฟเท่านั้นไม่รวมส่วนอื่นๆ สำหรับ มอก.ชุดหมายเลข มอก. 2432-2555 นี้จะครอบคลุมชุดสายพ่วง รางปลั๊กพ่วงทั้งชิ้นรวมสายไฟ, เต้ารับ, เต้าเสียบ, สวิตซ์ รวมถึงแรงดันไฟฟ้าด้วย
ปลั๊กพ่วงที่ผ่านมาตรฐาน พลาสติกตัวกล่องต้องกันความร้อนได้ดี ขั้วสัมผัสใช้วัสดุคุณภาพสูง ระยะห่างของสายไฟพอดี การบัดกรีข้างในแน่นหนา ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกจุด มั่นใจว่าได้รับการตรวจสอบทุกชิ้นก่อนถึงมือคุณ
2. พลาสติกคุณภาพสูงไม่ลามไฟ
ปลั๊กพ่วงโดยมากที่วางขายตามท้องตลาดฝาครอบหรือตัวกล่องปลั๊กมักผลิตจากพลาสติกเกรดธรรมดา เมื่อใช้ไฟเกินกำลังหรือเสียบปลั๊กไม่พอดีกับฐานจะทำให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ พลาสติกจึงละลายและติดไฟลุกลามได้ง่าย วัสดุภายนอกที่เป็นฝาครอบปลั๊กพ่วง จะต้องเป็นวัสดุที่ทนความร้อนได้สูง ไม่ลามไฟ เป็นพลาสติกคุณภาพสูงตามมาตรฐาน UL94 อย่างเช่น พลาสติก ABS, พลาสติกเอวีซี (avc) หรือโพลีคาร์บอเนต ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการลุกลามของไฟ ไม่ให้ไปสร้างความเสียหายต่อส่วนอื่นๆ
3. มี 3 ขาใส่กราวนด์กันไฟดูด
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม
เต้าเสียบของปลั๊กพ่วงที่เราใช้มีทั้งรุ่นที่มี 2 รู (Sockets) และ 3 รู บางคนเลือกซื้อปลั๊กที่มีเต้าเสียบ 2 รู เมื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มี 3 ขามาใช้จึงหักส่วนที่เกินมาทิ้ง 1 ขา เพื่อให้ใช้เสียบ
เต้ารับได้พอดี ซึ่งจริงๆ แล้วรางปลั๊ก 2 ขาและแบบขาแบน เป็นสินค้าที่มอก. ห้ามจำหน่าย เนื่องจากปลั๊กแบบ 2 รู ไม่มีกราวด์ มีเพียงสาย Line และ Neutral (L-N) ขาปลั๊กและเต้าเสียบที่ได้มาตรฐานจะต้องเป็นแบบ 3 ขากลมเท่านั้น ขาที่เพิ่มมาจะทำหน้าที่เป็นกราวนด์ มีหน้าที่เชื่อมกระแสไฟฟ้าลงดิน เมื่อมีไฟฟ้ารั่วจะวิ่งลงตามสายกราวด์โดยที่ไม่ผ่านร่างกาย เราจึงไม่ถูกไฟดูด
ทั้งนี้ต้องเช็คดูภายในกล่องรางปลั๊กพ่วงด้วยว่ามีการต่อวงจรกราวนด์เอาไว้ภายในไว้จริงๆ หรือไม่ เพราะบางยี่ห้อใส่ไว้เพียงขาหลอก แต่ไม่ได้ต่อวงจรจริงข้างใน
4. ขั้วสัมผัส L, N ข้างในเป็นทองแดง
ส่วนประกอบที่เป็นขั้วสัมผัสภายในปลั๊กพ่วงก็เป็นจุดสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ปลั๊กพ่วงที่ไม่มีคุณภาพจะใช้เหล็กชุบสังกะสี ซึ่งเป็นวัตถุที่นำไฟฟ้าได้ต่ำ ทำให้เกิดความร้อนสะสมมาก ถ้ามีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่เกินกำหนด จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ในแบรนด์คุณภาพกลางๆ จะเลือกใช้ทองเหลือง (ส่วนผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี) ซึ่งคุณภาพพอใช้ได้ แต่วัสดุที่ใช้ได้ดีที่สุดและราคาแพงที่สุด คือ ทองแดง ด้วยคุณสมบัติเด่นที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดี จึงไม่สะสมความร้อนมาก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟไหม้ปลั๊ก ทำให้บ้านปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
5. มีเบรกเกอร์ (Breaker) ในตัว
หนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไฟไหม้จากการใช้ปลั๊กพ่วง คือ การไฟฟ้าเกินขนาดพิกัดกระแสไฟฟ้าที่ปลั๊กพ่วงกำหนด จากการเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าพร้อมกันหลายๆ ชิ้น ไม่ดึงปลั๊กออกเมื่อไม่ใช้งาน หากใช้ปริมาณไฟฟ้าที่ปลั๊กแต่ละรุ่นกำหนด จะเกิดความร้อนสูงจนสายไฟละลาย ทำให้สายทองแดงข้างในทั้งสองเส้นแตะกัน จนทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ได้ ปลั๊กไฟในยุคก่อนจะไม่มี
สวิตช์เปิด – ปิดและ
ฟิวส์ช่วยตัดกระแสไฟฟ้า เมื่อใช้เกินขนาดทำให้เกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง ปัจจุบันหลายแบรนด์ได้ปรับปรุงฟังก์ชันให้ตอบโจทย์นี้
จึงควรมองหาปลั๊กพ่วงที่มีสวิตช์เปิด – ปิด มีเบรกเกอร์ในตัวป้องกันกระแสไฟเกินและช่วยตัดกระแสไฟให้อัตโนมัติ
นอกจากการเลือกซื้อแล้ว วิธีการใช้ที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ มิเช่นนั้นถึงซื้อของดีมาแค่ไหนก็ยังเสี่ยงอยู่ดี สำหรับการใช้งานปลั๊กพ่วงที่เหมาะสม คือ ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงกับ
เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เพื่อป้องกันไม่ให้สายไฟเกิดความร้อนสูงและทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร , ระวังอย่าเสียบปลั๊กพ่วงหนึ่งชิ้นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากพร้อมกันและไม่เสียบปลั๊กพ่วงต่อกันหลายๆ ต่อ
เมื่อถึงเวลาไม่ใช้งานควรดึง
ปลั๊กพ่วงออกจากปลั๊กไฟหลักหรือปิดสวิตช์ให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยคาไว้ทั้งคืน ที่สำคัญหากปลั๊กพ่วงชำรุด สายไฟขาด มีรอยไหม้ เต้ารับหลวมเสียบแล้วไฟสปาร์ค ไม่ควรซ่อมหรือใช้ต่อ ควรซื้อเปลี่ยนใหม่
เพราะทุกข้อล้วนทำให้เกิดความร้อนสะสมจากการใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง ทำให้ไฟฟ้าลัดลงจรและไฟไหม้ได้เช่นกัน
สอบถามเกี่ยวกับบริการติดตั้งปลั๊กหรือสวิตซ์ไฟเพิ่มเติม Inbox เพจ Home Service by HomePro : m.me/Homeservicebyhomepro Line : https://lin.ee/uN8D4Zl หรือ @Homeproservice
Call Center 1284