จัดตู้เสื้อผ้า ต้องเริ่มจากตรงไหนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยไม่วนลูปกลับมารกเหมือนเดิม คงเป็นเรื่องยากของหลาย ๆ คนที่เสื้อผ้าและข้าวของส่วนตัวเยอะจนล้นตู้ ไม่มีที่จะเก็บ ต้องนำออกมาเก็บด้านนอกตู้เสื้อผ้า เบียดเบียนพื้นที่ภายในห้องหรือภายในบ้านให้แออัดและคับแคบกว่าเดิม ยิ่งหากใครมีโรคประจำตัวอย่างโรคภูมิแพ้ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ เพราะกองเสื้อผ้ามากมายอาจกลายเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละอองต่าง ๆ ในห้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรื่องสุขอนามัยโดยตรง ดังนั้นการ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่เป็นที่เป็นทางจะช่วยแก้ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ให้หมดไป แต่จะ จัดตู้เสื้อผ้า อย่างไรให้ใช้งานง่าย ช่วยประหยัดพื้นที่ได้จริง และใช้เวลาจัดแบบรอบเดียวจบ ไม่ยืดเยื้อ
HomeGuru มีเทคนิคดี ๆ มาฝากครับ
• วิธีจัดตู้เสื้อผ้า แบบไม่ให้กลับมารกอีก
1. คัดแยกและแบ่งประเภทเสื้อผ้าและของใช้ทั้งหมด 2. จัดเก็บเสื้อผ้าเข้าตู้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย • คัดแยกและแบ่งประเภทเสื้อผ้าและของใช้ทั้งหมด
1. นำเสื้อผ้าและข้าวของทุกชิ้นในตู้เสื้อผ้าออกมา
ขั้นตอนแรกของการ
จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า คือการนำเอาเสื้อผ้าทั้งหมดที่อยู่ภายในตู้ออกมาให้หมดทุกชิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในกล่อง ในลิ้นขัก หรือบนไม้แขวน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ อย่างกระเป๋า ผ้าพันคอ เข็มขัด หมวก รองเท้า หรือเครื่องประดับต่าง ๆ เพื่อทำการคัดแยกและแบ่งประเภทเสื้อผ้าและของใช้ทั้งหมดที่มี ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้เราพบเสื้อผ้าใหม่ ๆ ที่เคยซื้อมาแล้วยังไม่เคยใส่ เสื้อผ้าเก่าที่ลืมไปแล้วว่าเคยมีอยู่ หรือเสื้อผ้าที่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอเพราะอาจเก็บไว้ลึกจนมองไม่เห็น หรือเก็บไว้นานจนลืมนั่นเองครับ
2. ตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าชิ้นไหนทิ้ง ชิ้นไหนเก็บ
หลังจากนำเสื้อผ้าและของใช้ทั้งหมดออกมาจากตู้เสื้อผ้าแล้วก็ถึงเวลามาพิจารณาเสื้อผ้าแต่ละชิ้น เพื่อคัดแยกให้ชัดเจนว่าชิ้นไหนยังใช้งานอยู่เป็นประจำ ชิ้นไหนนาน ๆ ทีถึงจะใช้ และชิ้นไหนไม่ใช้แล้ว เพื่อที่จะจัดสรรพื้นที่สำหรับเก็บของที่จำเป็น โดยการพิจารณาได้จากปัจจัยเหล่านี้ครับ
2.1 เสื้อผ้าที่มีอยู่ยังสวมใส่ได้พอดีหรือไม่
เพราะเสื้อผ้าบางชิ้นที่ซื้อมาอาจจะหลวมไป หรือคับเกินไป หรือเสื้อผ้าเก่าบางตัวที่ผ่านการซักทำความสะอาดแล้วเกิดการยืดหรือหด ก็อาจจะไม่พอดีตัวอีกต่อไป ดังนั้น ให้คัดแยกเก็บไว้เฉพาะชุดที่สวมใส่สบาย ติดกระดุมง่าย ไม่ชำรุดเสียหาย ไม่รัดแน่น หรือหลวมจนเกินไปครับ
2.2 เสื้อผ้าแฟชั่นที่ตกยุคไปแล้ว หรือเสื้อผ้าที่เก็บไว้เผื่อได้ใช้ จะได้ใช้จริงไหม
หลาย ๆ คนคงมีเสื้อผ้าบางชิ้นที่เก็บไว้เพื่อรอว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ใส่ เช่น เสื้อผ้าตัวเล็ก ๆ รอผอมแล้วค่อยใส่ เสื้อผ้าลดราคาที่ซื้อมาเป็นปีก็ยังไม่ได้ใช้ เสื้อผ้าที่รอใส่ในโอกาสพิเศษอย่างชุดราตรี หรือชุดสูทที่ตกยุคไปแล้ว รวมถึงแฟชั่นแบบอื่น ๆ ที่เคยฮิตมาก ๆ หรือเสื้อผ้าไซส์ใหญ่ที่เคยใส่ตอนตั้งครรภ์เหล่านี้ ให้ลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกทีว่าหากยังเก็บไว้จะได้ใช้จริงหรือไม่ หรือหากเก็บไว้จะเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่จัดเก็บไปเปล่า ๆ ครับ
2.3 เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่มานานมากแล้ว ถึงเวลาต้องเคลียร์หรือยัง
บางทีการรื้อเสื้อผ้าออกมาทั้งหมดเพื่อ จัดตู้เสื้อผ้า ใหม่อาจทำให้เราพบว่าเสื้อผ้าตัวโปรดที่เคยใส่บ่อย ๆ เมื่อเริ่มเสื่อมสภาพแล้วก็อาจจะไม่ได้นำออกมาใส่อีกเลย แต่จะตัดใจทิ้งไปก็ทิ้งไม่ลง เลยเก็บคาตู้ไว้แบบนั้น หรือเสื้อผ้าบางชิ้นที่ยังใหม่ แต่ใส่แล้วไม่ค่อยเหมาะ หรือไม่ได้ชอบ ไม่ค่อยได้หยิบออกมาใส่บ่อย ๆ ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องเคลียร์ออกไป หรือหากยังอยู่ในสภาพดีก็อาจส่งต่อให้คนที่ต้องการด้วยการบริจาคก็ได้ครับ
2.4 เสื้อผ้าที่มีอยู่ซ้ำกันอยู่กี่ชุด จำเป็นต้องเก็บไว้ทั้งหมดไหม
เชื่อว่าหลาย ๆ คนเวลาเห็นเสื้อผ้าที่ชอบก็มักจะอดไม่ได้ที่จะซื้อกลับบ้านมาด้วย และอาจจะเป็นบ่อย ๆ จนมารู้ตัวอีกทีก็พบว่ามีเสื้อผ้าซ้ำแบบเหมือนกันเป๊ะ ๆ อยู่หลายตัว รวมไปถึงชุดนักเรียน หรือชุดยูนิฟอร์มใส่ทำงานที่อาจจะมีเยอะเกินความจำเป็น กรณีนี้ให้ลองพิจารณาเลือกตัวที่สภาพดีเก็บไว้ แล้วคัดตัวที่เริ่มเก่าออกไปก็ได้ครับ หลังจากที่คัดแยกได้แล้วว่าชิ้นไหนจะเก็บ ชิ้นไหนจะทิ้งหรือนำไปบริจาคต่อก็ให้จัดการแบ่งหมวดหมู่เสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ แยกกันไว้คนละกอง เพื่อให้สะดวกต่อการ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า ในขั้นตอนต่อไปกันครับ
3. จัดการกับเสื้อผ้าที่จะทิ้งหรือจะนำไปบริจาค
การตัดใจทิ้งเสื้อผ้าตัวโปรด หรือต้องนำไปบริจาคต่อมักจะเป็นขั้นตอนการ จัดตู้เสื้อผ้า ที่ยากที่สุดที่ทำให้หลาย ๆ คนล้มเหลวต่อการ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า เพราะจนแล้วจนรอดก็ตัดใจทิ้งไปไม่ได้สักที ทำให้ปัญหาตู้เสื้อผ้ารกวนเป็นลูปเดิมอยู่แบบนี้ ดังนั้น วิธีจัดตู้เสื้อผ้า ที่ได้ผลโดยจบในครั้งเดียวก็คือต้องตัดใจให้ได้จริง ๆ โดนอาจจัดการกับเสื้อผ้าที่คัดแยกออกมาแล้วว่าจะไม่เก็บไว้ตามแนวทางดังนี้ครับ 3.1 ชุดที่ไม่ได้ใส่มานานเป็นปี ๆ แต่ยังอยู่ในสภาพดีก็สามารถนำไปบริจาคต่อให้คนที่ต้องการได้ครับ 3.2 ชุดโปรดที่ใส่จนอยู่ในสภาพยืด ย้วย มีร่องรอยขาดเป็นรู หรือสีซีดจางก็ควรนำไปทิ้ง ไม่ต้องเสียดายครับ 3.3 ชุดที่ใส่แล้วไม่พอดีตัว หรือชุดที่เก็บไว้รอวันผอม บอกเลยว่าให้ตัดใจแล้วนำไปบริจาคได้เลยครับ 3.4 ชุดที่อยู่ในสภาพดีบางชุดอาจเลือกส่งต่อให้ญาติ ๆ เพื่อน ๆ หรือจะขายต่อเป็นรายได้พิเศษก็ได้เช่นกันครับ
4. คัดแยกและเก็บเสื้อผ้าให้เหมาะกับพื้นที่จัดเก็บ
สำหรับเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ที่คัดแยกมาแล้วว่าจะเก็บไว้ใช้งานก็ต้องมีการคัดแยกอีกครั้งเช่นกันครับ แต่ครั้งนี้เป็นการคัดแยกว่าเสื้อผ้าชิ้นไหนจะเก็บกลับเข้าตู้เสื้อผ้า และเสื้อผ้าชิ้นไหนจะเก็บในส่วนของพื้นที่เก็บของที่ไม่ได้หยิบออกมาใช้งานบ่อยนัก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บนั่นเอง โดยอาจลองพิจารณาตามปัจจัยดังต่อไปนี้ครับ
4.1 เสื้อผ้าที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใส่มากนัก
หนึ่งใน วิธีจัดตู้เสื้อผ้า เพื่อประหยัดพื้นที่คือการคัดแยกเสื้อผ้าตามฤดูกาล อย่างเสื้อกันหนาว เสื้อโค้ท หรือผ้าพันคอหนา ๆ สำหรับใช้ในหน้าหนา วที่อาจไม่ค่อยได้หยิบออกมาใช้บ่อยนักก็สามารถแยกเก็บไว้ในกล่อง ลิ้นชัก หรือถุงพลาสติก แล้วติดป้ายระบุประเภทของเสื้อผ้าให้ชัดเจน จากนั้นนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ พื้นที่ใต้เตียง หรือพื้นที่เก็บของอื่น ๆ ภายในบ้านแทนครับ
4.2 เสื้อผ้าหรือของใช้ที่มีคุณค่าทางจิตใจ
สำหรับเสื้อผ้าที่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างเสื้อไหมพรมถักฝีมือคุณแม่ เสื้อทีมกีฬาสมัยมัธยม เสื้อที่ระลึกพร้อมลายเซ็นจากนักฟุตบอลทีมโปรด หรือเสื้อผ้าที่ได้เป็นของขวัญจากคนพิเศษ เสื้อผ้าเหล่านี้สามารถเก็บแยกออกมา หรือนำมาแขวนผนังเป็นของประดับตกแต่งบ้านชิ้นหนึ่งไปเลยก็เป็นไอเดียที่ดีครับ
5. ทำความสะอาดตู้เสื้อผ้าให้พร้อมสำหรับการจัดเก็บ
ก่อนจะ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า ต่อ แนะนำให้ทำความสะอาดตามซอกหลืบต่าง ๆ ภายในตู้ให้สะอาดเรียบร้อย หรือหากมีร่องรอยการชำรุดเสียหายก็ควรซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี หรืออาจจะถือโอกาสเปลี่ยนลุคใหม่ให้ตู้เสื้อผ้าด้วยการลอง DIY ทาสีใหม่ให้เข้ากับห้อง หรือลองติดสติ๊กเกอร์ลวดลายที่ชอบให้คุมโทนไปในทางเดียวกับห้องเพื่อความสบายตา และยังเหมือนได้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ในบ้านด้วยครับ
• จัดเก็บเสื้อผ้าเข้าตู้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
หลังจากคัดแยกประเภทเสื้อผ้าและทำความสะอาดตู้เสื้อผ้าเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาเก็บเสื้อผ้าเข้าตู้กันแล้วครับ โดย วิธีจัดตู้เสื้อผ้า ให้หยิบจับใช้งานง่าย สามารถทำตามเทคนิคเหล่านี้ได้เลยครับ
1. เลือกเสื้อผ้าสำหรับแขวนมาแขวนจัดระเบียบให้เรียบร้อย
การ จัดตู้เสื้อผ้า โดยการแขวนผ้านั้นนอกจากจะช่วยไม่ให้เสื้อผ้ายับยู่ยี่แล้วยังช่วยให้สามารถมองเห็นได้ง่าย ทำให้ไม่ลืมที่จะหยิบออกมามิกซ์แอนด์แมทช์ รวมถึงช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บด้วย ซึ่งสามารถเลือกใช้เทคนิคการคัดแยกและแขวนเสื้อผ้าตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้ครับ 1.1 เลือกแขวนเสื้อผ้าตามฤดูกาล หากเป็นฤดูร้อนก็ให้เก็บเสื้อกันหนาว เสื้อโค้ท หรือผ้าพันคอหนา ๆ เก็บไว้ในกล่องหรือลิ้นชักห้องเก็บของ หรือส่วนเก็บของอื่น ๆ ในบ้านไว้ก่อน เพื่อให้มีพื้นที่ในตู้เสื้อผ้าเพียงพอต่อการจัดเก็บครับ 1.2 เลือกแขวนเสื้อผ้าโดยแยกชุดทำงานออกจากชุดไปเที่ยว หรือชุดอยู่บ้าน เพื่อให้สามารถหยิบเสื้อผ้าทำงานออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงเช้าที่เร่งรีบของวันทำงาน 1.3 เลือกแขวนเสื้อผ้าโดยจัดเรียงเสื้อผ้าบนไม้แขวนตามประเภทของเสื้อผ้า เช่น เสื้อสูท เสื้อเชิ้ต เสื้อแขนยาว เสื้อแขนสั้น เสื้อแขนกุดหรือเสื้อกล้าม กางเกง กระโปรง หรือชุดเดรส ตามหมวดหมู่ของแต่ละประเภทครับ 1.4 เลือกแขวนเสื้อผ้าเรียงตามความถี่ของการใช้งาน โดยอาจแขวนเสื้อผ้าชุดโปรดหรือชุดที่ต้องใช้เป็นประจำไว้ในจุดที่หยิบใช้ได้ง่ายที่สุดครับ 1.5 เลือกแขวนเสื้อผ้าตามสีสันของชุด เช่น ชุดสีดำ ชุดสีขาว ชุดโทนสีเอิร์ธโทน หรือชุดโทนสีพาสเทล เป็นต้น 1.6 เลือกแขวนเสื้อผ้าโดยใช้สีของไม้แขวนเสื้อเป็นตัวช่วยในการแบ่งประเภทเสื้อผ้าแต่ละชิ้น เช่น ไม้แขวนเสื้อสีขาวสำหรับเสื้อผ้าทำงาน หรือไม้แขวนเสื้อสีดำสำหรับเสื้อผ้าทั่วไป เป็นต้น 1.7 เลือกแขวนเสื้อผ้าตามขนาด ความสั้นยาว หรือจะเลือกแขวนเสื้อผ้าเรียงตามความสั้นยาวของแขนเสื้อก็ได้ครับ
2. จัดเก็บเสื้อผ้าที่เหลือจากการแขวนเข้าที่
เมื่อ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า เรียบร้อยแล้ว หากราวแขวนในตู้เสื้อผ้าเต็ม แต่ยังมีเสื้อผ้าส่วนที่เหลือจากการแขวนเก็บ หรือเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นต้องแขวนอย่างชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย ชุดนอน หรือชุดชั้นใน ก็ย่อมต้องใช้อุปกรณ์จัดเก็บอื่น ๆ เข้ามาช่วยครับ 2.1 สำหรับพื้นที่ใต้ราวแขวนในตู้เสื้อผ้าที่ยังว่างอยู่ วิธีจัดตู้เสื้อผ้า ในส่วนนี้ให้เรียบร้อยอาจจะลองหากล่องจัดเก็บหรือกล่องจัดระเบียบมาวางเรียงไว้ใส่เสื้อผ้าที่เหลือ หรืออาจจะเลือกเป็นกล่องลิ้นชักเล็ก ๆ นำมาวางเรียงซ้อนกันเพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ก็ได้ครับ 2.2 ตู้เสื้อผ้าส่วนใหญ่มักจะมีชั้นวางของเหนือราวแขวนผ้าที่อยู่ด้านบนสุดของตู้ อาจใช้พื้นที่ตรงนี้สำหรับเก็บของที่นาน ๆ จะใช้สักครั้งอย่างผ้าขนหนูที่มีสำรองไว้ในบ้าน หรือข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น ผ้าห่ม ชุดเครื่องนอน หรือกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น
3. หาพื้นที่สำหรับจัดเก็บรองเท้า
การ จัดตู้เสื้อผ้า โดยเก็บรองเท้าเอาไว้รวมกับเสื้อผ้าในตู้นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่แล้ว หากดูแลรักษาเรื่องความสะอาดไม่ถี่ถ้วนอาจทำให้เกิดสิ่งสกปรกสะสม รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ง่าย ๆ ดังนั้น แนะนำให้จัดเก็บรองเท้าโดยใช้วิธีดังต่อไปนี้แทนครับ 3.1 จัดเก็บด้วยการแยกประเภทรองเท้า เช่น รองเท้าทำงาน รองเท้าเล่นกีฬา รองเท้าบูท และรองเท้าแตะ เป็นต้น 3.2 จัดเก็บตามความถี่ของการใช้งาน เช่น รองเท้าใส่ทำงานที่ใช้เป็นประจำอาจจะจัดเก็บไว้ตรงส่วนที่หยิบใช้งานง่ายที่สุด ส่วนรองเท้าบูทยาวสำหรับหน้าหนาว หรือรองเท้าแฟชั่นที่ใส่เป็นครั้งคราวก็สามารถเก็บไว้ด้านหลังคู่อื่น ๆ ได้ครับ 3.3 รองเท้าที่สวมใส่เป็นประจำ สามารถนำไปเก็บไว้บริเวณใกล้ ๆ กับประตูบ้าน เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้งาน และเป็นการช่วยประหยัดพื้นที่จัดเก็บในตู้เสื้อผ้าด้วยครับ 3.4 หากมีพื้นที่จำกัดและจำเป็นต้องเก็บรองเท้าไว้ในตู้เสื้อผ้าจริง ๆ ก็สามารถหากล่องรองเท้าแบบใสและวางซ้อนกันได้เพื่อมาจัดเก็บรองเท้าให้สามารถมองเห็นได้อย่างสะดวก หยิบใช้ง่าย และประหยัดพื้นที่ภายในตู้เสื้อผ้าด้วยครับ 3.5 หากประตูตู้เสื้อผ้าเป็นแบบบานเปิดปิด ไม่ใช่บานเลื่อน ก็จะมีพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ได้ด้วยการแขวนรองเท้าบริเวณบานประตูตู้เสื้อผ้าเพิ่มขึ้นมาครับ
เพียงเท่านี้การ
จัดตู้เสื้อผ้า เพื่อทวงคืนชีวิตที่สะดวกสบาย เรียบง่าย ไม่ยุ่งเหยิง ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ และทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคนิคการ จัดระเบียบตู้เสื้อผ้า ที่
HomeGuru รวบรวมมาฝากกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน เพราะแต่ละบ้านต่างก็มีปริมาณเสื้อผ้ามากน้อยไม่เท่ากัน และมีพื้นที่ในการจัดเก็บไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเมื่อจัดตู้เสื้อผ้าเรียบร้อยแล้วก็ต้องดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบร้อยร้อยให้ตู้เสื้อผ้าอยู่ในสภาพเดิมเสมอด้วยครับ